มือใหม่หัดถ่ายรูป – ตอนที่ 3 จากแสงสู่เซ็นเซอร์ กล้องบันทึกภาพยังไงนะ

จาก ครั้งที่แล้วเราพูดเรื่องการทำงานของกล้องคร่าวๆ กันแล้ว มาครั้งนี้ก็จะขอเจาะลึกลงไปอีกหน่อย เพราะก่อนที่เราจะใช้งานกล้องชนิดที่เรียกว่า "สั่งได้ดั่งใจ" ได้ก็ต้องเข้าใจพวกมันก่อนนะ

บอกกันก่อนเลยว่าบทความนี้จะลงลึก ค่อนข้างมาก (เท่าที่คนเขียนรู้ใน1ปีที่ผ่านมานะ ฮา) ถ้าเห็นว่าลึกไปสามารถข้ามไปรออ่านตอนที่4ได้เลยนะ เพราะเนื้อหาจะเบาลงหน่อย ไปโฟกัสเรื่องที่ใช้ประจำในการถ่ายภาพแทน

ในบทความนี้จะเน้นที่กล้องแบบ Mirrorless มากเป็นพิเศษด้วยเหตุผลที่ว่ามันอยู่ตรงกลางระหว่างกล้องคอมแพ็คกับ DSLR คอนเซ็ปจะคล้ายๆ กัน ... และอีกสาเหตุหนึ่ง คือคนเขียนเล่นกล้อง Mirrorless นั่นเอง

รับแสงแล้วเปลี่ยนเป็นไฟล์

เนื่องจากกล้องดิจิตอลไม่ใช้ฟิล์มเก็บภาพอย่างที่บอกไปในตอนที่แล้ว จึงต้องมีการแปลข้อมูลแสงที่เป็นอนาล็อกให้เป็นดิจิตอล ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่นี้ก็ไม่ใช่ใครอื่น เซ็นเซอร์รับภาพของกล้องนั่นเอง

การทำงานของกล้องก็เลียนแบบดวงตาคนนั่นแหละ คือเริ่มจากแสงตกไปที่วัตถุ และค่อยสะท้อนต่อมายังกล้อง

โดยปกติแล้วเซ็นเซอร์รับภาพดิจิตอลจะมองเห็นแค่ความสว่างของสี แต่มองไม่เห็นสีนะ พูดง่ายๆ คือมันมองเห็นภาพเป็นสีขาว-ดำนั่นเอง จึงต้องเอาฟิลเตอร์กรองแสงมาครอบมันไว้อีกที เจ้าฟิลเตอร์นี้มีลักษณะเป็นแผงตาราง สีแดง สีเขียว และ สีน้ำเงิน (ทั้งหมดเป็นแม่สีแสง) สลับกันไปแบบรูปนี้

ถ้าสังเกตจะเห็นว่าสีเขียวจะเยอะกว่าสีอื่น2เท่า นั่นเป็นเพราะบริษัทกล้องพบว่าตาของมนุษย์รับสีเขียวได้ดีที่สุดนั่นเอง

กล้อง แต่ละตัวออกแบบมาสำหรับกลุ่มผู้ใช้คนละแบบ ขนาดเซ็นเซอร์จึงมีตั้งแต่เล็กจิ๋วถึงใหญ่มาก ยิ่งใหญ่กล้องก็มักจะมีขนาดใหญ่ตาม แน่นอนว่าราคาก็จะแพงขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่กล้องที่ในวงการถือว่าเป็นมาตราฐานที่สุดคือเซ็นเซอร์ขนาด Full-Frame หรือขนาดเต็มเฟรมนั่นเอง ซึ่งขนาดนี้เป็นขนาดเดียวกับฟิล์มขนาด 35mm. ในสมัยก่อน

ยิ่งเซ็นเซอร์ใหญ่ก็ยิ่งรับภาพได้กว้างกว่า ตอนแรกเราก็คิดว่ามันแค่รับได้มากกว่าแค่เนี้ยเหรอ เดินถอยไปเอง 2-3 ก้าวก็ได้นะ ... อืม อันนั้นมันก็จริงแต่เซ็นเซอร์ใหญ่ก็จะได้เปรียบเรื่องการจัดการ noise ล่ะ เซ็นเซอร์ใหญ่จะรับแสงได้มากกว่าทำให้ noise น้อยกว่าเซ็นเซอร์เล็ก

Noise คืออะไรนั้น เราจะมาพูดกันอีกทีทีหลังนะ

แต่...เซ็นเซอร์ใหญ่ ไม่ได้หมายถึงพิกเซลเยอะนะ!

พวกกล้องจะชอบมีเขียนว่า 8 Mega Pixel, 13 Mega Pixel, 16.1 Mega Pixel, 24.3 Mega Pixel อะไรแบบนั้น แน่นอนว่ามือใหม่นั่นรู้แค่ว่ายิ่งเลขเยอะภาพก็ยิ่งละเอียด แต่เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับขนาดเซ็นเซอร์เลยนะ

คำ ว่า 8 Mega Pixel หรือก็คือ 8ล้านพิกเซลนั่นหมายความว่ารูปที่กล้องตัวนี้ถ่ายสร้างขึ้นมาได้อาจจะเป็น รูปขนาด 3200 x 2500 หรือ 3020 x 2650 ก็เป็นได้ (ขนาดไหนก็ได้ที่คูณกันแล้วออกมาได้ประมาณ 8ล้านนั่นเอง)

เอ๊ะ แล้วเซ็นเซอร์ใหญ่ไม่ได้ให้ภาพขนาดใหญ่หรือไงกัน?

กล้อง ดิจิตอลส่วนใหญ่เวลาถ่ายภาพออกมาในครั้งแรก สิ่งที่ได้ออกมาคือไฟล์ RAW (ไฟล์รอว์) หรือไฟล์ดิบที่ยังไม่ผ่านการโปรเซสอะไรทั้งนั้น รูปในไซส์นี้จะใหญ่มาก (ขนาดเอาไปปริ๊นโปสเตอร์โฆษณาได้) และเก็บรายละเอียดแสงทุกอย่างไว้หมด แต่นอกจากมืออาชีพแล้วคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยใช้ไฟล์RAWเพราะใช้งานยาก ถ่ายเสร็จต้องเอามาโปรเซสอีกทีให้เป็นรูปนามสกุลพวก JPEG ก่อนอยู่ดี กล้องทุกเครื่องเลยมีฟีเจอร์แปลงไฟล์RAWให้เป็น JPEG ให้เลย ซึ่งขนาดก็จะตามไซส์ที่โฆษณาไว้ในสเป็กกล้อง แต่ยิ่งเซ็นเซอร์ใหญ่มันก็มักจะทำให้รูปขนาดออกมาใหญ่ขึ้นตามไปด้วยแหละ

เลนส์ ตัวปรับมุมแสงก่อนเข้าเลนส์

เลนส์ ประกอบด้วยกระจกนูน-เว้าหลายชุด (เลนส์นูนเว้าแบบที่เรียนในวิชาวิทยาศาสตร์นั่นแหละ) หน้าที่ของมันคือหักเหแสงให้ตกลงพอดีกับเซ็นเซอร์รับภาพ

ปกติ เลนส์จะทำงานคู่กับเพื่อนซี้ของมันนั่นคือ Aperture หรือ รูรับแสง (ภาษาแบบไม่เป็นทางการเรียกว่า "หน้ากล้อง") เป็นอีกตัวที่ใช้คุมปริมาณแสงก่อนเข้าเซ็นเซอร์ ลักษณะของรูรับแสงจะเป็นซี่ใบพัดประมาณ7ใบเรียงกันเป็นวงกลม สามารถเปลี่ยนขนาดรูรับแสงได้ตามที่ต้องการ เจ้ารูรับแสงนี่แหละที่จะทำให้เกิดภาพแบบ "ชัดตื้น" หรือ "ชัดลึก" ได้ (แล้วเดี๋ยวเราค่อยพูดถึงมันในบทต่อไป)

เสียง "แชะ~!" มาจากไหน

สำหรับกล้องมือถือและกล้องคอมแพ็คแล้ว เสียง "แชะ" จากการกดชัตเตอร์นั้นเป็นเสียงที่กล้องสร้างขึ้นมาให้ หมายความว่ากลไกของกล้องแท้ๆ ไม่ทำให้เกิดเสียงนะ กล้องและมือถือบางรุ่นตั้งค่าปิดเสียงพวกนี้ได้ แต่บางรุ่นเช่นที่ขายในญี่ปุ่นจะมีกฎหมายว่ากล้องต้องมีเสียงชัตเตอร์ทุกอัน เพื่อป้องกันคนแอบถ่าย (สำหรับเราใช้มือถือ htc นั้นสามารถปิดเสียงได้ละ กดถ่ายนี่ไม่มีใครรู้ ฮา)

แต่สำหรับกล้องแบบ DSLR หรือ Mirrorless แล้วเสียงแชะนั้นไม่ได้เกิดจากลำโพง แต่เกิดจากกลไกของมันจริงๆ เพราะเมื่อกดชัตเตอร์ กล้องพวกนี้จะมีสิ่งที่เรียกว่า "ม่านชัตเตอร์" อยู่ มันจะดีดตัวหนึ่งครั้งเป็นที่มาของเสียงแชะนั่นเอง และสำหรับ DSLR จะดังกว่า Mirrorless ซะด้วยเพราะนอกจากม่านชัตเตอร์แล้วมันยังมีกระจกสะท้อนอีกตัวซะด้วย

มองออกมั้ย นั่นแหละม่านชัตเตอร์ เจ้านี่จะถูกวางไว้หน้าเซ็นเซอร์รับภาพ

โดยปกติแล้วม่านชัตเตอร์จะมี 2 ตัว หน้าทีของมันคือเปิดให้แสงตรงเข้าสู่เซ็นเซอร์ข้างหลังมัน แต่ไม่ใช่เปิดหมดทีเดียว มันจะค่อยๆ เปิดทีละนิด ไล่จากบนลงล่าง ดูรูปต่อไปประกอบนะ เป็นภาพตัดขวางของกล้อง ตอนแรกม่านชัตเตอร์หนึ่งตัวจะดันตัวขึ้น จากนั้นม่านทั้งสองตัวจะค่อยๆ ขยับลงพร้อมกันแต่เว้นช่องไว้เล็กๆ ให้แสงผ่านเข้าไปได้

แล้วสงสัยกันไหมว่าทำไมต้องทำอะไรให้มันยุ่งยากขนาดนี้ เปิดหมดเลยทีเดียวไม่ได้เหรอยังไง

คำตอบคือเปิดหมดไม่ได้นะเพราะปริมาณของแสงที่เข้าเซ็นเซอร์มีผลต่อภาพที่จะออกมาล่ะ ยิ่งเปิดนาน แสงเข้าสู่เซ็นเซอร์เยอะ ภาพจะสว่างมากขึ้น แต่ถ้าสิ่งที่ถ่ายอยู่มันเคลื่อนที่เร็วมากเช่นถ่ายรูปรถวิ่งอยู่ ถ้าไม่ปรับค่าให้ถูกต้อง เปิดม่านชัตเตอร์เยอะเกินไปภาพรถก็จะเบลอไปหมด

ป.ล. ถ้าต้องการจะรับขนาดรูม่านชัตเตอร์ไม่ต้องหาปุ่มปรับนะว่าอยู่ตรงไหน เพราะไม่มีปุ่มให้ปรับม่านชัตเตอร์หรอก แต่เราจะปรับมันผ่าน Shutter Speed แทนยังไงล่ะ

และนั่นก็เป็นสิ่งที่กล้องทำทั้งหมดเมื่อเรากดชัตเตอร์ ในตอนต่อไปเราจะมาพูดเรื่องการปรับค่ากล้องเพื่อให้รูปออกมาให้แบบที่ต้องการกันนะ

13459 Total Views 3 Views Today
Ta

Ta

สิ่งมีชีวิตตัวอ้วนๆ กลมๆ เคลื่อนที่ไปไหนโดยการกลิ้ง .. ถนัดการดำรงชีวิตโดยไม่โดนแสงแดด
ปัจจุบันเป็น Senior Software Engineer อยู่ที่ Centrillion Technology
งานอดิเรกคือ เขียนโปรแกรม อ่านหนังสือ เขียนบทความ วาดรูป และ เล่นแบดมินตัน

You may also like...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *