“ต้นทุน-ราคาค่าจ้าง” กับอาชีพสายฟรีแลนซ์ ในมุมมองของผู้ประกอบการ และ…ลูกค้า

--- ประเด็นวันนี้อาจจะละเอียดอ่อน แสดงความคิดเห็นได้ แต่อย่าดราม่ากันแรงนะคับ ---

บล๊อกนี้ไม่มีอะไรมากหรอก แค่เขียนๆ-บ่นๆ เฉยๆ (ฮา)

เรื่องของเรื่องก็คือ...ไปเห็นโพสต์หนึ่งที่แชร์กันเยอะในเฟสบุ๊คช่วงที่ผ่านมา หัวข้อคือ "ส่อง 10 ธุรกิจลงทุนจิ๊บๆ แค่ใช้ทักษะที่มีในตัวก็ทำเงินได้" (ตามไปอ่านเต็มๆ ได้ที่ต้นทาง http://www.thairath.co.th/infographic/359)

เนื้อหาก็ไม่มีอะไรมาก ส่วนใหญ่แนะนำอาชีพสายฟรีแลนซ์ซึ่งเป็นอาชีพยอดฮิตในยุคนี้ เช่น ติวเตอร์ ช่างภาพ กราฟิกดีไซน์ ซึ่งตอนแรกอ่านจบก็โอเค เหมือนจะดี เป็นการให้แนวทางว่ามีอะไรหลายอย่างเลยนะที่คุณอาจจะเอามาหาเงินได้โดยที่คุณไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่มเติมแล้วนะ เพราะคุณน่าจะพอมีความรู้เรื่องนั้นอยู่แล้ว ถึงต้องศึกษาเพิ่ม คุณก็จะเร็วกว่า ได้เปรีนบกว่าคนอื่น

แต่ประเด็นคือในเฟสบุ๊คแทบจะทุกโพสต์ที่แชร์กันมา มีการคอมเมนท์เหมือนกันว่า...

"ทำคนที่ไปหาข้อมูลมาจากไหน! อาชีพพวกนี้เหรอไม่มีต้นทุน คิดจริงๆ ต้นทุนแพงมากเลยนะ
อย่ามาหาว่าอาชีพพวกนี้หาเงินง่ายแล้วก็มากดราคากันสิ"

ถ้าไปกระทบใครก็ขออภัยด้วยครับ <(_ _)>

จากที่ไปอ่านๆ มาเลยทำให้เรางงนิดหน่อย ว่า...อ้าว เนื้อความจริงๆ ที่เขาอยากสื่อไม่ได้หมายความว่าความสามารถพิเศษของคุณเอามาหาเงินได้หรอกหรือ? ทำไมคนอื่นแปลความออกมาแบบนั้นล่ะ?

ถ้าคนทำรูปไม่ได้หมายความแบบที่โดนคอมเมนท์กันไปก็น่าเห็นใจนะ ทำออกมาแล้วดันโดนต่อว่าจากทุกโพสต์เลย

แต่ช่างเถอะ!

มาเข้าเรื่องกันดีกว่า 555

ต้นทุน ... เรื่องเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่

คงไม่ต้องอธิบายเนอะว่าต้นทุนคืออะไร สำหรับผู้ประกอบการ มันคือสิ่งที่เราเสียเงินเสียทองไปมากมายเพื่อให้ธุรกิจของเราเกิดขึ้นมาได้ ส่วนใหญ่อาชีพสายฟรีแลนซ์จะมีต้นทุนที่คล้ายๆ กันนั่นคือ...

  • ค่าความรู้ - ไม่ว่าจะวาดรูป เขียน ภาษา สกิลต่างๆ ต้องใช้เวลาและเงินเพื่อเรียนมาทั้งนั้นแหละ
  • ค่าอุปกรณ์ - กล้องถ่ายรูป คอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่กระดาษปากกา ไม่ใช่ได้มาฟรีๆ นะ
  • ค่าเดินทาง/กิน/ใช้/ไฟ/น้ำ/บลาๆๆ (อ้าว พูดไปพูดมาก็เหมือนมนุษย์ธรรมดาทั่วไปที่นา)

ขอโฟกัสที่อาชีพที่ไม่ต้องมีค่าอุปกรณ์หรืออุปกรณ์หาง่าย มีในทุกครัวเรือนอยู่แล้วก่อนแล้วกันนะ ... อาชีพพวกนี้ตัวอย่างเช่น โปรแกรมเมอร์ (เช่นเราเองนี่แหละ) นักเขียน นักแปล ถึงต้องใช้คอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟนช่วยเหลือในการทำงาน แต่เรามองว่าถึงคุณในทำอาชีพพวกนี้ ถ้ายังอาศัยอยู่ในตัวเมืองคุณก็ซื้อมันมาใช้อยู่ดีนั่นแหละ

ดังนั้นอาชีพพวกนี้ถึงจะบอกว่ามีค่าต้นทุนเป็นคอมพิวเตอร์ (รวมค่าอินเตอร์เน็ตไปด้วย..อ่ะ) แต่มันก็คงไม่แพงเท่าค่าความรู้หรอกนะ!

ปัญหาคือ "ความรู้" มันเป็นสิ่งที่เป็นนามธรรม มันAbstract! แล้วจะตีราคามันอย่างไรล่ะ

ขอข้ามไปก่อน มาดูกลุ่มที่สองกัน กลุ่มที่มีค่าต้นทุนอย่างเห็นได้ชัด นั่นคืออาชีพสายที่ต้องลงทุนอุปกรณ์! ... เช่น ช่างภาพ (ใครเล่นกล้องจะรู้เลยว่าเลนส์หนึ่งตัว เท่ากับเงินเดือนทั้งเดือนเลยนะ) กราฟิกดีไซน์ (ถ้าไม่เสียค่าอุปกรณ์ ก็เสียเงินกับค่าโปรแกรมล่ะ) ช่างแต่งหน้า/ทำผมสไตลิส ไม่ต้องพูดเนอะว่าต้นทุนมาจากไหนกัน

แล้วตั้งราคายังไงดี

แล้วถ้าจะทำอาชีพพวกนี้ เราจะคิดราคาค่างานของเราเท่าไหร่ดี โดยรวมแล้วก็มักคิดตามหลักเศรษฐศาสตร์

เชื่อว่าหลายคนน่าจะรู้จักกราฟนี้ กราฟ Demand-Supply หรือ เส้นอุปสงค์-อุปทาน บอกก่อนว่าเราไม่เก่งเศรษฐศาสตร์ อาจจะมั่วๆ บ้างตามความรู้โปรแกรมเมอร์ (ฮา) แต่แนะนำเลยนะว่าใครเคยเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์แต่ลืมไปแล้ว อย่างน้อยน่าจะจำกราฟนี้ไว้หน่อยนะ เพราะจริงๆ เราก็รู้แค่กราฟนี้แหละ 55

  • Demand เส้นลูกค้าสีแดง - แสดงความต้องการของคน ยิ่งของราคาแพง จำนวนที่ขายได้ก็จะน้อย / แต่ถ้าราคาของถูกลงจำนวนที่ขายได้ก็จะเพิ่มมากขึ้น
  • Supply เส้นคนขายสีน้ำเงิน - แสดงความอยากในการขายของ คนขายน่ะ อยากขายให้ได้เยอะๆ แถมราคาสูงๆ อยู่แล้วล่ะ

ปัญหาคือถ้าราคาของแพงไป คนซื้อย่อมไม่ควักตังค์จ่าย แต่ถ้าราคาของถูกไป คนขายก็จะไม่อยากทำเพราะไม่คุ้มเลย เราจึงต้องหาจุด Equilibrium ให้เจอ ซึ่งมันคือจุดให้การเจอกันครึ่งทาง คือราคา ณ จุดนี้ คนซื้อก็พอรับไหว คนขายก็พอใจ

กฎของที่ 1 ของการตั้งราคา (เราบัญญัติเองนะ) - การตั้งราคาของคุณจะต้องดูตลาดด้วย ไม่ใช่ตั้งตามใจฉัน เรียนมาแพง อุปกรณ์ราคาสูง งั้นตั้งซัก 100,000 ต่องานละกัน ... ใช่ คุณตั้งได้แต่ก็ต้องทำใจยอมรับนะว่าถ้าราคาเกินจุด Equilibrium ไปแล้วจำนวนลูกค้าจะน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดเลย

ลูกค้าที่มี Royalty ในงานของคุณน่ะไม่เท่าไหร่หรอก เช่น ดารา เวลาคนพวกนี้ขายของหรือโฆษณาอะไร จะได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ เพราะลูกค้ากลุ่ม Royalty ยอมจ่ายเงินเพื่อความชอบ/ฟินของตัวเอง ก็ทำแล้วมีความสุขอ่ะ

แต่ลูกค้าทั่วไปซึ่งน่าจะกินส่วนแบ่งไปเกินครึ่งเขาอาจจะไม่พอใจกับสินค้าราคาขนาดนี้ของคุณหรอกนะ และส่วนใหญ่ การจะทำให้ตัวเองเป็นเซเล็ปที่สร้างฐานลูกค้า Royalty ได้นี่ยากน่าดูนะ

กฎของที่ 2 - ปริมาณคนที่ทำงานนั้นได้ "มาก/น้อย" แค่ไหน ถ้าคนในตลาดแรงงานที่ทำงานชิ้นนี้ได้มีมาก บางทีคุณก็อาจจะตั้งราคาสูงไม่ได้ ให้ลองสำรวจตลาดดูว่าทั่วไปเขาตั้งกันเท่าไหร่ เพราะลูกค้าของคุณเวลาจะหาคนจ้างงานก็ทำแบบนี้แหละ คือเสิร์จกูเกิ้ลแล้วหาคนที่งานพอใช้ได้และราคาถูกที่สุด ต้องเข้าใจก่อนนะว่าลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ต้องการงานที่ดีมากแต่ต้องการงานที่ถูก แปลว่าถ้าลูกค้าเจอคนที่ถูกกว่าแม้งานเขาจะดีสู้คุณไม่ได้ แต่โอกาสที่คุณจะเสียลูกค้าก็มีเยอะแล้วล่ะ เพราะเขาไม่ง้อคุณ!

แต่กลับกัน ถ้างานที่คุณทำอยู่ มีคนทำน้อย อันนี้อาจจะเข้าข่าย "เล่นตัว" ได้ เพราะคนรับงานหายากนะ แพงเท่าไหร่ก็ต้องจ่าย ... คำเตือนสำหรับคนที่อยู่ในกลุ่มนี้คือหมั่นอัพเดทข้อมูลตลอดเวลาด้วยนะ ปีนี้อาจจะมีคนทำเรื่องนี้ได้แค่ไม่กี่คน แต่ปีหน้าจำนวนคนที่ทำได้มันอาจจะเพิ่มขึ่นแล้วราคาถูกกว่าคุณก็ได้นะ หรือแย่กว่านั้นคือเทคโนโลยีที่คุณเทพอยู่คนเดียวดันเลิกใช้ไปแล้ว (สายITนี่ตัวดีเลย เดือนนี้บูมอยู่ เดือนหน้ามีตัวใหม่มาแทนแล้ว)

กฎข้อที่ 3 - ถูกแต่อย่าถูกเกินไป ลูกค้าชอบของราคาถูก แต่การตั้งราคาถูกๆ ตัดราคาคู่แข่งในบางสายงานอาจจะเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้นะ ต้องระวังเรื่องนี้ด้วย

เราเคยทำงานกับสายสถาปนิก มีเรื่อง " จรรยาบรรของสถาปนิก" มาเกี่ยวด้วยซึ่งไม่เคยรู้มาก่อนเลย (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.asa.or.th/th/node/99357 หากสถาปนิกคนไหนไม่ทำอาจจะโดนยกเลิกใบอนุญาตได้)

อีกเรื่องที่ความระวังในการตั้งราคาถูกๆ คือ Price War หรือ สงครามตัดราคา ... หมายความว่าถ้ามีร้านค้าหลายร้านขายของในราคา 100 บาท แล้วจู่ๆ ร้านAก็ประกาศว่าฉันจะขายในราคา 90 บาท แน่นอนว่าในช่วงแรกๆ ลูกค้าจะแห่กันไปร้านAเพราะราคาถูก ทำให้ร้านอ่านๆ ไม่พอใจแล้วปรับราคาบ้าง อาจจะปรับเป็น 80 บาทเพื่อเรียกลูกค้า ลูกค้าก็จะแห่กันไปร้านนั้น ถ้าร้านAอาจเอาชนะอีกก็จะปรับเป็น 70 บาทแข่งกันไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายอาจจะขาดทุนทั้งคู่ งานนี้คนขายเจ็บกันถ้วนหน้าแต่คนซื้อเฮฮา

แล้วจะถูกได้แค่ไหน โอเค คิดแบบนี้ละกัน ถูกกว่าคนอื่นได้ แต่อย่าให้ตัวเองขาดทุนด้วยวิธีการเอาจำนวนเข้ามาช่วยแล้วคุณจะรู้ว่า "ตัวคูณ" เป็นอะไรที่คนค้าขายรักมาก

ขอยกคำที่อากงเคยสอนไว้มาบอกหน่อยละกัน

"ขายมาก กำไรน้อย -> กำไรไม่น้อย / ขายน้อย กำไรมาก -> กำไรไม่มาก"

กฎข้อที่ 4 - ต้องซื่อสัตย์กับลูกค้า อันนี้ไม่ค่อยเกี่ยวกับการตั้งราคา แต่การเสนอราคากับลูกค้าควรจำเอาไว้ว่าต้องซื่อสัตย์ ให้ข้อมูลให้ครบว่าราคาที่เขาต้องจ่ายเนี่ย เขาจะได้อะไรตอบแทนกลับไปบ้าง พูดให้เคลียร์ อย่าทำเหมือนโฆษณาบางตัวที่มีตัวอักษรเล็กๆ วางไว้ข้างล่างว่าใช้เพื่อการโฆษณาเท่านั้น หรืออย่าใช้ชื่อ/รายละเอียด/ศัพท์เฉพาะหลอกให้ลูกค้าสับสนเช่น โปรโมชั่นแบบอันลิมิตใช้เท่าไหร่ก็ได้แต่พอใช้เกินปริมาณที่กำหนดก็จะโดนตัดอะไรบางอย่างออก

แต่ที่พูดผ่านมาทั้งหมดนี่...ลูกค้าไม่ได้คิดแบบคุณหรอกนะ (หึหึ)

ในชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่เราอยู่ในบทบาทของ ลูกค้า มากกว่า คนขาย ที่บอกแบบนี้เพราะในแต่ละวัน คุณใช้เงินจ่ายค่าต่างๆ เยอะมากเลยนะ ตั้งแต่ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าเน็ต ค่าไฟ/น้ำ ซื้อของฟุ่มเฟือยต่างๆ

เชื่อว่าทุกคนเคยบ่นว่า "ทำไมนับวันของยิ่งแพงขึ้นเรื่อยๆ" สิ่งที่น่าจะโดนบ่นบ่อยมากที่สุดขอสรุปเอาเองว่าเป็นค่าอาหาร ตามด้วยค่าเดินทาง

ปกติกินข้าวจานละ 50 บาท อยู่มาวันหนึ่งร้านอาหารบอก ตั้งแต่วันนี้ไปหนึ่งจานราคา 60 บาทแล้วนะ

หงุดหงิดมั้ยล่ะ? นี่แค่ขึ้นราคาแค่ 10 บาทเองนะ ผลจากการขึ้นราคานี้มีหลายทาง คุณอาจจะทนกินร้านนี้ต่อไป หรือไม่ก็เลิกกินแล้วไปหาร้านที่ถูกกว่าถึงแม้จะอร่อยน้อยกว่าก็ตาม

ย้ำอีกที ... นี่ขึ้นแค่ 10 บาทเองนะ

สังเกตอะไรมั้ย เมื่อเราสวมบทลูกค้าอยู่ ถือว่าไม่ใช่กลุ่ม Royalty นะ เพราะถ้า Royalty แพงขนาดไหนก็เต็มใจซื้อ (ทั้งทั้งน้ำตา) เราอยากได้ของดีและราคาถูก แล้วถ้าเป็นเคสร้านอาหาร เขาแย้งคุณได้มั้ยว่ากว่าเขาจะทำอาหารแบบนี้ได้ต้องฝึกมานานมากเลย ขอขึ้นราคาหน่อยละกันเนื่องในโอกาสน้ำมันแพง (เอ๊ะ?)

ลูกค้าไม่สนหรอก คุณจะลงค่าต้นทุนของคุณไปเท่าไหร่ ฉันอยากได้ของนี่ในราคาถูก ฉันมีจุดพีคของฉัน ถ้าราคามากกว่านี้ฉันก็ไม่ซื้อ/จ้างหรอก

ดังนั้น ในมุมมองลูกค้า (ส่วนใหญ่ที่คุณน่าจะเจอ)

  • จ้างเขียนเว็บร้านค้า - จัดเต็มให้เลย เทคโนโลยีใหญ่ล่าสุด เซิร์ฟเวอร์ทรงพลัง พร้อมราคา 6 หลัก -> ลูกค้าบอกแพงไป ขอซัก 5,000 ได้มั้ย แค่อยากมีเว็บ จะแพงอะไรนักหนา ถ้าแพงขนาดนั้นใช้พวกเว็บสำเร็จรูปฟรีๆ ก็ได้
  • กราฟิกดีไซน์ - จัดเต็มให้เหมือนเคสข้างบน ทฤษฎีศิลป์ องค์ประกอบ เลเอ้าท์ ทุกอย่างเพอเฟ็ค พร้อมราคา 5 หลัก -> ลูกค้าบอกแค่รูปไม่กี่รูป 1,000 เดียวได้มั้ย ไม่งั้นไม่มีเงินจ่าย ใช้ PowerPoint ลากปะเอาเองก็ได้
  • งานแปล/งานเขียน - แปลความภาษาสวยงาม บริบทถูกต้อง คำศัพท์สวยหรู อ่านง่ายไม่ติดขัด พร้อมราคา 4 หลัก -> ลูกค้าบอก แค่แปลงานเอง คุณรู้ภาษาอยู่แล้ว แค่เขียนใหม่เป็นภาษาอื่น โดยเข้า Google Translate ก็จบแล้ว

นั่นแสดงให้เห็นว่าลูกค้าไม่ค่อยสนใจหรอกว่าคุณใช้เวลาเรียนรู้การทำงานของคุณนานแค่ไหน สิ่งที่เขาอยากได้ก็แค่ งาน เพิ่มเติมคือ ราคาถูก ซึ่งจะมีแต่คนในสายเดียวกันเท่านั้นแหละที่เข้าใจ

ลูกค้า Royalty ... ทุกอย่างย่อมมีข้อยกเว้น

กฎที่ว่ามายืดยาวข้างบนน่ะ จะถูกลบไปไม่มีเหลือเมื่อเจอกับลูกค้ากลุ่มแฟนคลับ หรือลูกค้าที่มีความ Royalty

ลูกค้ากลุ่มที่คุณทำอะไรก็ถูกไปซะทุกอย่าง ยินดีจ่ายเงินจำนวนมากกว่าค่าเฉลี่ยเพื่อซื้อของของคุณ

ใช่แล้ว เรากำลังพูดถึงการสร้างแบรนด์ อยู่นั่นเอง เพราะมันหนึ่งในไม่กี่วิธีที่จะทำให้ลูกค้าเปลี่ยนมุมมองและความรู้สึกต่อสินค้าได้ จากเดิมที่เขาไม่สนใจว่ากว่าคุณจะมาถึงวันนี้ได้คุณผ่านอะไรมาบ้าง เขาก็จะเริ่มสนใจ เริ่มว้าวไปกับคุณ สุดท้ายก็จะยอมจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อสนับสนุนร้านค้าของคุณเอง

แต่บล๊อกนี้ไม่ได้จะพูดเรื่องการสร้างแบรนด์ เราเลยจะขอจบเนื้อหาแต่เพียงเท่านี้ หากใครสนใจลองกูเกิ้ลดูได้ วิธีการสร้างแบรนด์ให้ดังมีคนเขียนไว้มากมายหลายร้อยบทความเลย

วันนี้พอแค่นี้ก่อนล่ะ บาย ^__^

2421 Total Views 3 Views Today
Ta

Ta

สิ่งมีชีวิตตัวอ้วนๆ กลมๆ เคลื่อนที่ไปไหนโดยการกลิ้ง .. ถนัดการดำรงชีวิตโดยไม่โดนแสงแดด
ปัจจุบันเป็น Senior Software Engineer อยู่ที่ Centrillion Technology
งานอดิเรกคือ เขียนโปรแกรม อ่านหนังสือ เขียนบทความ วาดรูป และ เล่นแบดมินตัน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *