ช่วงนี้ที่เป็นกระแสข่าวในโลกออนไลน์เห็นจะเป็น ธนาคารสีม่วงประกาศรับสมัครงานโดยคัดกรองเบื้องต้นจากชื่อมหาวิทยาลัยดัง คนก็เอาไปวิจารณ์กันโดยหลักๆ ก็แบ่งเป็น 2 พวกคือพวกที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ... แต่แน่นอนว่าพวกกลุ่มหลังคือ "ไม่เห็นด้วย" นั้นมีเยอะกว่า ขนเรื่องบานปลายขึ้นอีกถึงขนาด "มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง" ที่ไม่มีชื่อมหาวิทยาลัยตัวเองติดเข้าไปประกาศคว่ำบาตรเลิกใช้บริการทุกอย่างของธนาคารม่วงซะ! (อันหลังนี่ค่อนข้างจะเหมือนเด็กๆ ทะเลาะกันซะมากกว่า)
ในบล๊อกนี้ก็ไม่ได้จะมาพูดเรื่องนี้หรอกว่ามันเหมาะหรือไม่เหมาะเพราะมีเถียงกันไปเยอะแล้วในอินเตอร์เน็ต แต่ละคนก็มีเหตุผล (ไม่นับพวกออกมาต่อว่าอย่างเดียวเอาอารมณ์เป็นหลักโดยไม่ให้เหตุผลนะ) ซึ่งเอาจริงๆ ก็ไม่ใช่ธนาคารม่วงนี้อย่างเดียวหรอกนะที่ประกาศรับพนักงานโดยเลือกมหาวิทยาลัย บริษัทชั้นนำของไทยหลายบริษัทเช่นห้างเซ็นทรัล หรือ การบินไทยก็เคยเขียนลงไปในคุณสมบัติผู้สมัครว่าต้องจบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำเท่านั้น (ในประกาศใช้คำว่า from well-known University/ Top 15 universities or International Program from top universities)
จะเห็นว่าระบบนี้มันก็ไม่ใช่ธนาคารม่วงหรอกที่เอามาใช้ให้เกิดกระแสเป็นที่แรก บางที่ก็ยังใช้อยู่แค่ไม่ประกาศออกมาซึ่งๆ หน้า เอาเป็นว่ามันใช่มานานแล้วแค่ไม่เป็นกระแสแค่นั้นเอง
แล้วทางด้านคนที่ไม่เห็นด้วยเขาให้เหตุผลว่าอย่างไรบ้างล่ะ?
ส่วนใหญ่ก็บอกว่ามันเป็นการกีดกัน เหยียดมหาวิทยาลัย ความเก่งของคนไม่ได้วัดกันด้วยมหาวิทยาลัยนะ (เคสหลังจะยกตัวเอง สตีฟ จ๊อบส์ และ บิล เกต มาด้วย)
เอาล่ะ เข้าเรื่องดีกว่า!
จากเหตุการณ์นี้เลยนึกถึงรูปนี้ขึ้นมา .. หาใน Google แล้วเจอรูปนี้จากหลายเว็บมาก แต่ไม่รู้ว่าเว็บไหนเป็นต้นฉบับเลยปะลิงค์เครดิตให้ไม่ได้ ขออภัยด้วย
ความเท่าเทียมไม่ยุติธรรมเสมอไป!
Equality (ความเท่าเทียม) กับ Justice (ความยุติธรรม) เป็นสองสิ่งที่คนชอบนึกว่าเป็นสิ่งเดียวกัน เช่นต้องให้ความยุติธรรมสำหรับทุกคนนะจะได้มีความเท่าเทียม
ก่อนอื่นมาดูความหมายของ 2 คำนี้ก่อนดีกว่า
Equality = การที่ทุกคนได้รับของเท่ากัน เช่นเสียภาษีเท่ากันไม่ว่าคุณจะมีเงินแค่ไหน ได้รับสิทธิขึ้นรถเมล์ฟรีเท่ากันไม่ว่าคุณจะเป็นคนชนชั้นอะไร
Justice = การที่ทำให้ทุกคนอยู่ในจุดที่เสมอภาคกัน แม้ว่าบางคนอาจจะได้รับของมากกว่าบางคนก็ตาม เช่นคนรวยจะเสียภาษีมากกว่าคนจน การส่งอาหารไปช่วยพื้นที่อุทกภัยเท่านั้น
**สำหรับเรา คิดว่าคำว่า "เท่าเทียม" กับ "ยุติธรรม" ในความหมายนี้น่าจะแปลกลับกันมากกว่า แต่ค้นจากหลายที่แล้วเขาตีความกันแบบนี้ ก็ขอให้ยึดคำอธิบายข้างบนละกันนะ
ถ้าอย่างนั้นทำไมถึงเป็นความไม่ยุติธรรมแต่ดันเท่าเทียมล่ะ?
(1) ลองคิดว่าเราเปิดบริษัทขึ้นมา ต้องการจะขยายกิจการเลยจะรับพนักงานเพิ่มเลยทำใบประกาศออกไป ถ้าบริษัทคุณยังไม่ใหญ่มากจำนวนคนที่เข้ามาสมัครก็ยังไม่เยอะ และเพื่อให้ได้พนักงานคุณภาพเราก็จะทำการ "สอบ" ผู้สมัครทุกคนซะ ในเคสนี้คือไม่สนว่าจะจบมาจากที่ไหนนะ เรามีเวลา เราเทสทีละคนได้ เอาคนที่เก่งที่สุดมาทำงานด้วย อันนี้จะได้ผู้สมัครที่หลากหลายมาก จากทุกมหาวิทยาลัย เป็นการแข่งกันด้วยฝีมือจริงๆ
(2) พอทำบริษัทไปสักพัก บริษัทเริ่มโตขึ้น เราเป็นผู้บริหารก็มีงานล้นมือ ไม่ว่างมานั่งสอบพนักงานใหม่ทีละคนแล้ว ... ในขณะนี้ต้องการพนักงาน 10 ตำแหน่ง แต่ดันมี Resume ส่งมาที่โต๊ะสัก 1000 ฉบับ
แน่นอนว่ามันต้องมีคนไม่ได้ 990 คนจริงมั้ยล่ะ!?
แต่จะให้มานั่งสอบทีละคน ถ้าคนละ 1 ชั่วโมงก็ใช้ตั้ง 1000 ชั่วโมงแล้วนะ แต่ผลที่ออกมาคือได้พนักงานใหม่แค่ 10 คน ถึงจะมีคุณภาพจริงๆ แต่มันไม่คุ้มกันหรอก ดังนั้นจะต้องมีการ
คัดกรองด้วยคุณสมบัติบางอย่างของผู้สมัคร
แล้วอะไรล่ะที่มันดูง่ายที่สุดว่าคนๆ นี้เหมาะจะเข้ามาเป็นพนักงานบริษัทเรา (โดยไม่เคยคุยกันมาก่อนสักประโยค) ... พอจะนึกออกใช่ไหมล่ะ ลองนึกถึงเวลาคุยกับเพื่อนหรือรุ่นน้องเล่นๆ ก็ได้ คำแรกๆ ที่จะถามกันคือ
- จบจากไหนมา
- เกรดเฉลี่ยเท่าไหร่
- มีความสามารถพิเศษอะไรมั้ย
- มีทำกิจกรรม/แข่งขันอะไรบ้างรึเปล่า
- อื่นๆ อีกมากมาย~♪♫
เห็นมั้ยล่ะ "จบจากไหนมา" แทบจะเป็นคำแรกๆ เลยที่ทุกคนต้องการรู้ ลองคิดว่าคุณทำงานอยู่แล้วมีพนักงานใหม่เดินเข้ามา ตอนนั่งคุยกันหลังจากถามชื่อเล่น ตำแหน่ง บ้านอยู่ไหนเรียบร้อยแล้ว ยังไงก็จะมีคนถามคำนี้ออกมา
ดังนั้นวิธืคัดกรอง Resume ก็จะใช้วิธีคล้ายๆ กัน คนคัดกรองต้องมีอคติอยู่แล้ว อย่างน้อยอยู่ในฐานะเท่ากันก็มีใจเอียงไปทาง ม. ที่ดีกว่าแล้ว ดังนั้นทำไมบริษัทจะเลือกคนที่ "น่าจะเก่งกว่า" มาเข้าบริษัทตัวเองในเวลาจำกัดไม่ได้ล่ะ
เพราะแบบนี้แหละถึงบอกว่ามันไม่ยุติธรรมกับบางคนนัก (แต่ทำยังไงได้ล่ะเพราะบริษัทต้องการกำไร ไม่ใช่องค์กรไม่แสวงผลกำไรนะ เขาต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดที่เลือกได้)
ชื่อมหาลัยไม่ได้บอกว่า "เก่งกว่า" แต่มันบอกว่า "น่าจะเก่งกว่า"
มันเป็นเรื่องของความไว้เนื้อเชื่อใจ ลองคิดดูสิ ปีหนึ่งๆ คนสมัครสอบแอดมิดชันเข้ามหาวิทยาลัยปีละเท่าไหร่ เป้าหมายของคุณคนถ้าเลือกได้แน่นอนว่า มหาลัยระดับ Top ของประเทศอยู่แล้ว แต่มหาลัยไม่มีความสามารถที่จะรับทุกคนเข้าเรียนเลยต้องมีการสอบแข่งขันกันซะก่อน คนที่เก่งกว่าก็จะได้เข้าไปเรียน
แล้วยังไง ... ก็แปลว่ามหาวิทยาลัยระดับ Top เป็นที่รวมของนักเรียนระดับเก่งมากของประเทศใช่มั้ยล่ะ อาจจะมีกรณีพิเศษคือเด็กเก่งที่สุดแต่อยากเข้ามหาวิทยาลัยใกล้บ้านเลยไม่เลือกมหาวิทยาลัยพวกนั้น แต่มันจะมีสักกี่คนกันเชียวล่ะ
แต่นั้นยังไม่พอ 4ปีในมหาวิทยาลัยสามารถเปลี่ยนนิสัยคนๆ หนึ่งไปได้เลยนะ ถ้าคุณไปอยู่ในกลุ่มคนที่แอคทีฟตัวเองตลอดเวลา ชัวร์เลยว่าคุณจะต้องมีความอยากที่จะถีบตัวเองให้อยู่ในกลุ่มเพื่อนให้ได้ กลับกันนะ...ถ้าคุณเป็นคนแอคทีฟแต่ดันไปอยู่ในกลุ่มคนที่เฉื่อยชา ถึงคุณจะยังเป็นคนแอคทีฟเหมือนเดิมแต่อยู่ไปนานๆ คุณจะแอคทีฟน้อยลงแน่นอน
อันนี้ก็เหมือนกัน 4ปีในกลุ่มคนเก่งมีอะไรดีๆ กว่า 4ปีในกลุ่มคนธรรมดาอยู่แล้ว
โอเค ข้อนี้ก็เหตุผลต่อมาสำหรับที่บอกไว้ข้างต้นว่ามันเท่าเทียม คือลุยหนักมาก่อน วางแผนมาก่อน ถึงจะเก่งเท่ากันแต่โปรไฟล์ดีกว่าย่อมมีคนสนใจมากกว่า
ทางทีมันก็ไม่ใช่ "เก่ง" อย่างเดียวด้วย
อันนี้มาพูดถึงประเด็นเกรดกันบ้าง ทำไมต้องมีจำกัดเกรดเฉลี่ยขั้นต่ำ ... บริษัทส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการคนเก่ง แต่ต้องการคนที่ทำงานได้ (แปลว่าต้องการคนที่ปรับตัวเข้ากับงานใหม่ๆ / มีความรับผิดชอบ - เก่งไม่เก่งมันค่อยๆ ฝึกได้) การที่คุณเป็นนักเรียนนักศึกษา หน้าที่ของคุณคือเรียน การทำคะแนนให้ได้ดีก็เป็นความรักผิดชอบต่อหน้าที่อย่างหนึ่งไง สรุปคือในมุมมองของบอส เกรดดีอาจจะไม่ได้ทำให้เขาคิดว่าคุณเก่ง แต่เขาจะคิดว่าคุณมีความรับผิดชอบต่องานแน่ๆ เวลาเข้ามาทำงาน
สรุปนะ
ที่ต้องระบุมหาวิทยาลัยเพราะบริษัทต้องการคัดเลือกคนอย่างคร่าวๆ ก่อน ใช้เรื่อง "ความน่าจะเป็น" เลือกกลุ่มที่น่าจะเก่งกว่าก่อน อาจจะไม่ได้คนที่ดีที่สุด แต่อย่างน้อยก็มั่นใจว่าดีในระดับผ่านเกณท์ได้ละกัน
... ส่วนจะประกาศโจ่งแจ้งไปเลยหรือรอให้เขามาสมัครแต่ยังไงก็แอบอตคิอยู่ในใจ นั่นก็แล้วแต่แต่ละบริษัทเองละนะ 😉